SILKSPAN

วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2558

MYANMAR เมืองทวาย ประเทศพม่า เที่ยวทวายแบบ มืออาชีพ 098-0641749

เที่ยวเมืองทวาย เขตตะนาวศรี ขับรถท่องเที่ยวเมืองทวาย ทวาย หรือ ดะเว (Dawei or Tavoy) อยู่ที่ปากแม่น้ำทวาย รัฐตะนาวศรี ประกอบด้วย 3 เมือง คือ ทวาย มะริด หรือ มเยก (Myeik) ในภาษาพม่า และเกาะสอง หรือ ก๊อตาวน์ (Kawthaung) มีทวายเป็นเมืองเอก เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของพม่า


     ทวาย หรือ ดะเว (Dawei or Tavoy) เมืองไทยในอดีตเมื่อก่อนปี พ.ศ. 2336 ซึ่งมีความรุ่งเรืองในอดีต และยังคงทิ้งร่องรอยเชื่อมโยงมาจนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ปากแม่น้ำทวาย รัฐตะนาวศรี หรือ Tanintharyi (Tenasserim) Division ที่เป็นที่รู้จักจากโลกภายนอก ในปี ค.ศ.1989 ประกอบด้วย 3 เมือง คือ ทวาย มะริด หรือ มเยก (Myeik) ในภาษาพม่า และเกาะสอง หรือ ก๊อตาวน์ (Kawthaung) มีทวายเป็นเมืองเอก เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของพม่า ออกจากด่านบ้านพุน้ำร้อน ตำบลบ้านเก่า จ.กาญจนบุรี สุดเขตแดนไทยพม่า ที่เป็นชายแดนที่ใช้ในการขนอุปกรณ์การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวายจากประเทศไทย เข้าสู่ประเทศพม่า ด้วยระยะทางเพียง 147 กม.
     ผู้คนในทวายไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนพม่า แต่เป็นคนทวาย มีภาษาถิ่น มีรากเหง้า มีวัฒนธรรม มีความเป็นมาของตัวเอง

    ผมได้เห็นความแตกต่างเช่นนั้นจริงๆ หลังจากท่องเมืองทวายอยู่ 3 วัน

     รัฐตะนาวศรีประกอบด้วย 3 เมือง ได้แก่ ทวาย มะริด และเกาะสอง มีทวายเป็นเมืองเอก เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของพม่า เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งก๊าซ แร่ธาตุ อัญมณี ทรัพยากรทางทะเล แหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ และแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม

      หลังจากรัฐบาลเปิดประเทศมาระยะหนึ่ง สภาพเมืองทวายเปลี่ยนไปมาก รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ รถสกายแล็บเข้ามาแทนที่รถจักรยาน เกวียน และรถม้า ทุกวันนี้เหลือรถม้าวิ่งบริการอยู่ราว 10 คัน และคงสูญหายในไม่ช้า

     บ้านทรงท้องถิ่นอายุ 80-100 ปี หลายหลังริมถนนใหญ่ถูกทิ้งร้าง บ้างรื้อทิ้งเปลี่ยนเป็นอาคารพาณิชย์ แต่ตามตรอกซอยยังมีให้เห็นมากมาย อาคารสไตล์โคโลเนียล (ยุคอาณานิคมอังกฤษ) ยังมีให้เห็นหลายหลัง ส่วนใหญ่ใช้เป็นที่ทำการรัฐ และโรงแรม
    เรื่องอาหารการกินของที่นี่ ไม่เน้นรสจัด ประเภทแกง และยำ มักมีรสชาติและกลิ่นของกะปิ หอมแดง และมะกรูดนำ หลายอย่างมีหน้าตาและรสชาติใกล้เคียงบ้านเรา ทั้งก๋วยเตี๋ยว ข้าวซอย ขนมจีบ ซาลาเปา ปาท่องโก๋ พวกเรากินมื้อไหนมักจะขอพริกสด พริกคั่วมาเสริมเสมอ

    ของว่างคนทวายคือ "หมาก" ทั้งหนุ่มสาว เฒ่าแก่ เปรี้ยวปากเมื่อไหร่เป็นต้องควักมาเคี้ยวตุ้ยๆ

      วันนี้ หนุ่มสาวยังแต่งกายด้วยเสื้อผ้าพื้นเมืองเป็นหลัก สวมเสื้อผ้าฝ้ายสีอ่อน นุ่งโสร่ง-ผ้าถุง น้อยนักจะนุ่งยีนส์ ยิ่งกางเกงขาสั้นแทบไม่มีให้เห็น

    แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อ คือ "ชายหาดมองมะกัน" หาดทรายขาวสะอาดทอดยาวหลายกิโล คลื่นลูกใหญ่ม้วนเกลียวซัดฝั่ง เม็ดน้ำใสแจ๋วกระเซ็นใส่ น่าแปลกใจตรงไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมาพักผ่อน
   
       วันสุดท้าย เราเดินย้อนเวลาสู่อาณาจักรทวายโบราณ ยุคก่อตั้งรัฐที่เมือง "ทาการา" (Thagara) ราว พ.ศ.750 ตั้งอยู่ปลายเทือกเขาตะนาวศรี ห่างจากตัวเมืองปัจจุบันไปราว 7 กิโลเมตร มีองค์ประกอบความเป็นรัฐโบราณครบทุกประการ อาทิ เจดีย์ใหญ่กลางเมือง เนินปราสาท คูเมือง กำแพงเมือง 3 ชั้น สุสานโบราณ ซากท่าเรือริมลำน้ำโบราณที่ไหลผ่านเมืองลงสู่แม่น้ำทวาย

    จากการศึกษาค้นคว้าเมืองทาการาในรอบหลายปีที่ผ่านมา นักวิชาการทวายพบสถาปัตยกรรม โกศบรรจุอัฐิ ลูกปัด ตราประทับ ฯลฯ คล้ายคลึงและร่วมสมัยกับวัตถุโบราณที่ขุดพบในนครรัฐของ "ชาวพยู" (Pyu) อาณาจักรโบราณทางตอนบน

     ข้อมูลหลักฐานต่างๆ บ่งชี้ว่าประวัติศาสตร์ตะนาวศรี และรัฐทวาย ปรากฏตัวและมีฐานะเป็นรัฐอิสระก่อนการเกิดอาณาจักรพุกาม เมาะตะมะ อังวะ สุโขทัย และอยุธยา

     เมืองโบราณปัจจุบันอยู่ในเขตหมู่บ้าน Myo Haung (แปลว่า Old City) และยังเป็นที่ตั้งสำนักงานวัฒนธรรมทวาย ที่นี่เก็บรักษารูปปูนปั้นเทพฮินดู พระพุทธรูป ตราประทับอักษรโบราณภาษาสันสฤต รับอิทธิพลมาจากอินเดียสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช อักษรบางตัวกลายเป็นต้นกำเนิดอักษรพม่าในปัจจุบัน นักวิชาการสันนิษฐานว่า อักษรดังกล่าวเป็นชื่อย่อของกษัตริย์ หรือผู้ทำบุญถวายสลักไว้เพื่อเสริมดวงชะตา

     จากสำนักงานไปไม่ไกล เป็นที่ตั้งเนินปราสาทขนาดเล็ก มีบ้านเรือนล้อมอยู่รายรอบ

     คณะจากไทยตั้งคำถามว่า ทำไมไม่เห็นการขุดค้นขุดแต่งบริเวณเนินปราสาท หรือสุสานโบราณนอกกำแพงเมือง ทั้งๆ ที่เป็นบริเวณสำคัญยิ่งในการค้นหาหลักฐาน

      "ซอว์ ทูรา" (Zaw Thura) อาจารย์จิตวิทยาประวัติศาสตร์ นักวิชาการท้องถิ่นแห่งมหาวิทยาลัยทวาย ซึ่งได้รับเชิญจากโครงการพัฒนาทักษะการสื่อสารและทำข่าวสืบสวนสอบสวน ภายใต้การสนับสนุนของ สสส.มานำชมเมืองโบราณ ตอบข้อสงสัยว่า พ.ศ.2554 ทีมนักวิชาการทวายขอเงินรัฐบาลกลางมาปรับแต่งเนินจนเห็นฐานรากพระราชวังเก่าอายุพันปี แต่รัฐบาลกลางยังไม่มีนโยบายให้ขุดค้นในบริเวณต่างๆ จึงเรียนรู้เฉพาะสิ่งของที่อยู่บนดิน และโบราณวัตถุที่ชาวบ้านขุดพบโดยบังเอิญ

     "บางครั้งเป็นข้าราชการก็ยากจะทำอะไรขัดนโยบายรัฐบาลกลาง เขาคงไม่อยากให้เราเจอประวัติศาสตร์ ไม่อยากให้ปลุกชาตินิยมทวายขึ้นมา เชื่อมั้ย 10 ปีที่แล้วยังพูดถึงประวัติศาสตร์รัฐทวายไม่ได้เลย" อาจารย์ทูราระบาย

    เราถามเขาว่า การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทวายจะรองรับการเข้าสู่โหมดพัฒนาอย่างไร

     อินเดียน่าโจนส์แห่งทวายตอบคมทีเดียวว่า

      "คุณไม่อยากรู้หรือว่า บรรพบุรุษมาจากไหน คุณเป็นมาอย่างไร เราต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อจะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ ซึ่งมันสำคัญต่อการพัฒนาทวายอย่างมาก พัฒนาทวายก็ต้องพัฒนา แต่ประวัติศาสตร์ของเราก็ต้องรักษาไว้ด้วย เราต้องนั่งล้อมวงคุยกันว่าจะรักษามันไว้อย่างไร"

      เสียดายจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของประวัติศาสตร์ชาวทวายยังคงซ่อนตัวอยู่ใต้ผืนดิน ความจริงและความรู้มากมายเกี่ยวกับรากเหง้าของชาวทวาย ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผย

      ชาวทวายวันนี้จึงยังไม่สามารถเชื่อมต่ออดีตกับปัจจุบันเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ของตนเองได้อย่างที่หวัง





























www.sunitjotravel.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น